รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรม เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ "องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน" ที่มีการบริหารจัดการโดยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการสร้างคุณค่าและการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่องค์กร ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ กระบวนการ ไปจนถึงระดับโครงสร้าง ตามกรอบแนวทางการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (Innovative Organization Model: IOM) โดยทาง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญของประเทศพัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2562 และนำมาใช้ประกอบการพิจารณารางวัล เป็นต้นมา โดยแบ่งการพิจารณารางวัลเป็น 4 ประเภทตามลักษณะและขนาดองค์กร ดังต่อไปนี้
1. วิสาหกิจขนาดใหญ่
วิสาหกิจขนาดใหญ่ หมายถึง กิจการในรูปนิติบุคคลที่มีการจ้างงานและรายได้ ดังนี้
• ภาคการผลิต : การจ้างงานมากกว่า 200 คน หรือรายได้มากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
• ภาคการค้าและบริการ : การจ้างานมากกว่า 100 คน หรือรายได้มากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
2. วิสาหกิจขนาดกลาง
วิสาหกิจขนาดกลาง หมายถึง กิจการในรูปนิติบุคคลที่มีการจ้างงานและรายได้ ดังนี้
• ภาคการผลิต : การจ้างงานระหว่าง 51 - 200 คน หรือรายได้ 100 - 500 ล้านบาทต่อปี
• ภาคการค้าและบริการ : การจ้างงานระหว่าง 31 - 100 คน หรือรายได้ 50 - 300 ล้านบาทต่อปี
3. วิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย
วิสาหกิจขนาดย่อม หมายถึง กิจการในรูปนิติบุคคลที่มีการจ้างงาน หรือรายได้ ดังนี้
• ภาคการผลิต : การจ้างงานระหว่าง 6 - 50 คน หรือรายได้มากกว่า 1.8 ล้าน ถึง 100 ล้านบาทต่อปี
• ภาคการค้าและบริการ : การจ้างงานระหว่าง 6 - 30 คน หรือรายได้มากกว่า 1.8 ล้าน ถึง 50 ล้านบาทต่อปี
วิสาหกิจรายย่อย หมายถึง กิจการในรูปนิติบุคคลที่มีการจ้างงาน หรือรายได้ ดังนี้
• ภาคการผลิต : การจ้างงานไม่เกิน 5 คน หรือรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
• ภาคการค้าและบริการ : การจ้างงานระหว่าง 1 - 5 คน หรือรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ หากมีกรณีจำนวนการจ้างงาน หรือรายได้เข้าลักษณะของวิสาหกิจต่างกัน ให้ยึด "รายได้" เป็นหลักในการพิจารณา (ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี พ.ศ.2563)
4. องค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคประชาสังคม
โดยองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคประชาสังคม มีรายละเอียดดังนี้
• องค์กรภาครัฐ หมายถึง หน่วยงานส่วนราชการระดับกระทรวง กรม จังหวัด สถาบันอุดมศึกษา องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น อาทิ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีสถานะเทียบเท่านิติบุคคล
• รัฐวิสาหกิจ หมายถึง องค์การของรัฐบาลตามกฏหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐตามกฏหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ และบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่กีะทรวงการคลังมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
• ภาคประชาสังคม หมายถึง องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ด้านพัฒนาสังคมและไม่แสวงหากำไรมาแบ่งปันกัน แต่ไม่รวมถึงนิติบุคคลองค์กร หรือคณะบุคคลที่จัดตั้งหรือดำเนินการโดยพรรคการเมือง หรือดำเนินงานกิจกรรมในลักษณะการแสวงหาอำนาจรัฐหรือเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง ได้แก่ สมาคม มูลนิธิ หรือองค์กรการกุศล สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม
การพิจารณามอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรม มีประเด็นรายละเอียดในการพิจารณา ดังต่อไปนี้
1. ศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กรใน 8 มิติ ตามกรอบแนวทางการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (IOM)
1.1 มิติด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม
1.2 มิติด้านการมุ่งเน้นธุรกิจ
1.3 มิติด้านบุคลากร
1.4 มิติด้านองค์ความรู้
1.5 มิติด้านวัฒนธรรมองค์กร
1.6 มิติด้านทรัพยากร
1.7 มิติด้านกระบวนการนวัตกรรม
1.8 มิติด้านผลิตผลจากนวัตกรรม
2. การเติบโตและความยั่งยืนขององค์กร
2.1 นโยบายหลักบรรษัทภิบาล (สำหรับองค์กรภาคเอกชน) และ นโยบายหลักธรรมาภิบาล (สำหรับองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และประชาสังคม)
2.2 นโยบายการแข่งขันอย่างยั่งยืน (สำหรับองค์กรภาคเอกชน) และ นโยบายการเติบโตอย่างยั่งยืน (สำหรับองค์กรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และประชาสังคม)
2.3 นโยบายการจัดการความเสี่ยง
2.4 นโยบายเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
* ศึกษา รายละเอียดแนวทางการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (IOM) เพิ่มเติม ได้ที่เว็บไซต์ https://iop.nia.or.th
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรม เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ "องค์กรภาครัฐและภาคเอกชน" โดยพิจารณาองค์กรที่รับรางวัลตามเงื่อนไข ดังนี้
1. องค์กรภาคเอกชนต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์และประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นหลัก มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทย มากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
2. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี นับตั้งแต่วันประกาศรับสมัครประกวดรางวัล
3. เป็นหน่วยงานที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีกรณีฟ้องร้องหรือข้อพิพาททางกฏหมายและไม่มีเรื่องเสื่อมเสียปรากฏเป็นข่าวในสังคม
4. ไม่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ระหว่างเลิกกิจการ เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์หรืออยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ
5. กรณีที่องค์กร "เคย" ได้รับรางวัลในด้าน "เดิม" แล้วจะไม่สามารถขอรับรางวัลในปีถัดไปได้ โดยจะต้องเว้นระยะเป็นเวลา 1 ปี แต่สามารถสมัครประกวดในด้านอื่นๆ ได้
6. ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานประกอบครบถ้วนตามกรอบระยะเวลาที่สำนักงานฯ กำหนด
การพิจารณารางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรม ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น
องค์กรที่สนใจสามารถสมัครเข้าประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรม โดยการกรอกแบบฟอร์มในระบบออนไลน์ ที่เว็บไซต์รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ (https://award.nia.or.th) และเข้าตอบแบบสอบถามการจัดการองค์กรตามโมเดลพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (Innovative Organization Model : IOM) ในระบบประเมินตนเองออนไลน์ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (https://iop.nia.or.th) โดยผู้สมัครต้องนำส่งเอกสารนำส่งเอกสารถูกต้อง ครบถ้วน ตามแบบฟอร์มออนไลน์ในเวลาที่สำนักงานฯ กำหนด ทั้งนี้ หากข้อมูลไม่ครบถ้วน ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาขั้นต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 การพิจารณาความครบถ้วนของเอกสารแสดงการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมองค์กร
องค์กรที่ผ่านการพิจารณาในขั้นตอนที่ 1 นําส่งเอกสารนําเสนอข้อมูลศักยภาพนวัตกรรมองค์กร โดยจะได้รับการตรวจสอบความครบถ้วนของเอกสารนําเสนอข้อมูลการดําเนินการพัฒนานวัตกรรมองค์กร โดยประกอบด้วยข้อมูลตัวชี้วัดศักยภาพ และอธิบายผลการดําเนินการขององค์กรตามประเด็น โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
• ข้อมูลพื้นฐานการดําเนินธุรกิจปัจจุบันและผลการดําเนินงาน ย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี
• ข้อมูลผลการดําเนินงานนวัตกรรมภายในองค์กร ตามแนวทางการพัฒนาศักยภาพนวัตกรรมองค์กร (Innovative Organization Model : IOM) 8 มิติ โดยมีตัวอย่างผลการดําเนินงานพัฒนาที่เป็นรูปธรรมย้อนหลังอย่างน้อย 1 ปี
• ข้อมูลแสดงการเติบโตและความยั่งยืนขององค์กร
• ข้อมูลการรับรองมาตรฐาน หรือข้อมูลรางวัลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมที่องค์กรพัฒนา (หากมี) ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา
ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบข้อมูล และประเมินศักยภาพองค์กรนวัตกรรม
องค์กรที่ส่งเอกสารนําเสนอได้ถูกต้องครบถ้วนภายในกรอบระยะเวลาที่กําหนดจะได้รับการพิจารณาในขั้นตอนที่ 3 โดยการเข้าสัมภาษณ์ประเมินศักยภาพนวัตกรรมองค์กร เพื่อยืนยันข้อมูลตามเอกสารที่ได้นําส่ง โดยจะมีการนําเสนอข้อมูลการดําเนินงานนวัตกรรมภายในองค์กร ณ สถานที่ปฏิบัติงาน หรือผ่านการเยี่ยมชมในรูปแบบออนไลน์ ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม เพื่อสรุปข้อมูลนําเสนอพิจารณาตัดสินในขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่ 4 การพิจารณาตัดสินมอบรางวัล
องค์กรที่ผ่านการตรวจสอบข้อมูลและประเมินศักยภาพนวัตกรรม จะได้รับการพิจารณาตัดสินมอบรางวัลตามเกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัลในแต่ละประเภทองค์กร เป็นลําดับต่อไป
องค์กรที่ได้รับรางวัล จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ
นอกจากนี้ ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้
• ได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายองค์กรนวัตกรรมประเทศไทย
• ได้รับสิทธิในการพัฒนาศักยภาพทางนวัตกรรม จากการเข้ารับการอบรม และศึกษาดูงานนวัตกรรมองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมทั้งใน และต่างประเทศ
• ได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิดชูเกียรติผ่านสื่อมวลชน
สอบถาม รายละเอียดการประกวดรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านองค์กรนวัตกรรม เพิ่มเติม ได้ที่ [email protected] หรือติดต่อ 02-017-5555 ต่อ 561