รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นรางวัลที่มอบให้แก่ “ผลงาน” ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่กระบวนการใหม่ บริการใหม่ หรือรูปแบบธุรกิจใหม่ ที่มีคุณค่าเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อม และเกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ แบ่งเป็น 3 ประเภทตามลักษณะและขนาดองค์กร ได้แก่
1. วิสาหกิจขนาดใหญ่ และวิสาหกิจขนาดกลาง
วิสาหกิจขนาดใหญ่ หมายถึง กิจการในรูปนิติบุคคลที่มีการจ้างงาน หรือรายได้ ดังนี้
• ภาคการผลิต : การจ้างงานมากกว่า 200 คน หรือรายได้มากกว่า 500 ล้านบาทต่อปี
• ภาคการค้าและบริการ : การจ้างงานมากกว่า 100 คน หรือรายได้มากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
วิสาหกิจขนาดกลาง หมายถึง กิจการในรูปนิติบุคคลที่มีการจ้างงาน หรือรายได้ ดังนี้
• ภาคการผลิต : การจ้างงานระหว่าง 51-200 คน หรือรายได้มากกว่า 100 ล้าน ถึง 500 ล้านบาทต่อปี
• ภาคการค้าและบริการ : การจ้างงานระหว่าง 31-100 คน หรือรายได้มากกว่า 50 ล้าน ถึง 300 ล้านบาทต่อปี
รัฐวิสาหกิจ (ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) หมายถึง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล กิจการของรัฐตามกฎหมายที่จัดตั้งกิจการนั้น หรือหน่วยงานธุรกิจที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ และบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่กระทรวงการคลังมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละห้าสิบ
2. วิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย และวิสาหกิจเพื่อสังคม
วิสาหกิจขนาดย่อม หมายถึง กิจการในรูปนิติบุคคลที่มีการจ้างงาน หรือรายได้ ดังนี้
• ภาคการผลิต : การจ้างงานระหว่าง 6-50 คน หรือรายได้มากกว่า 1.8 ล้าน ถึง 100 ล้านบาทต่อปี
• ภาคการค้าและบริการ : การจ้างงานระหว่าง 6-30 คน หรือรายได้มากกว่า 1.8 ล้าน ถึง 50 ล้านบาทต่อปี
วิสาหกิจรายย่อย หมายถึง กิจการในรูปนิติบุคคลที่มีการจ้างงาน หรือรายได้ ดังนี้
• ภาคการผลิต : การจ้างงานไม่เกิน 5 คน หรือรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
• ภาคการค้าและบริการ : การจ้างงานระหว่าง 1-5 คน หรือรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ หากมีกรณีจำนวนการจ้างงาน หรือรายได้เข้าลักษณะของวิสาหกิจต่างกันให้ยึด “รายได้” เป็นหลักในการพิจารณา (ที่มา: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563)
วิสาหกิจชุมชน หมายถึง กิจการของชุมชนเกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่นๆที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกันและรวมตัวกันประกอบกิจการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นนิติบุคคลในรูปแบบใดหรือไม่เป็นนิติบุคคลเพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน (ที่มา: พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน)
วิสาหกิจเพื่อสังคม หมายถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่นที่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ตั้งอยู่ หรือมีเป้าหมายในการจัดตั้งตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน โดยมีรายชื่อตามประกาศของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.)
3. องค์กรภาครัฐ และองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น หน่วยงานภาครัฐ สมาคม สหกรณ์ มูลนิธิหรือองค์กรการกุศล องค์การนอกภาครัฐ
หน่วยงานภาครัฐ หมายถึง ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หน่วยงานธุรการศาล มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หน่วยงานสังกัดรัฐสภาหรือในกำกับของรัฐสภา หน่วยงานอิสระของรัฐ และหน่วยงานอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
องค์กรไม่แสวงหากำไร หมายถึง องค์กรที่ไม่ใช่ภาคราชการ และไม่ใช่ภาคธุรกิจที่แสวงหากำไร ก่อตั้งและดำเนินการโดยกลุ่มบุคคลที่มีความมุ่งมั่นในอันที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข ปัญหาสังคม โดยเฉพาะปัญหาด้านคุณภาพชีวิตของกลุ่มบุคคลผู้ด้อยโอกาสและประชาชนผู้ทุกข์ยาก
สมาคม หมายถึง การก่อตั้งสมาคมเพื่อกระทำการใดๆ อันมีลักษณะต่อเนื่องร่วมกันและมิใช่เป็นการหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน (ที่มา: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)
สหกรณ์ หมายถึง คณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (ที่มา: พระราชบัญญัติสหกรณ์)
มูลนิธิหรือองค์กรการกุศล หมายถึง องค์การที่มีทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกันและได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ และการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง (ที่มา: กรมสรรพากร)
องค์การนอกภาครัฐ หมายถึง องค์การที่อยู่นอกภาครัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มุ่งแสวงหากำไร ทั้งนี้ โดยได้รับเงินอุดหนุนจากบุคคลบางกลุ่มที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน ในบางครั้งองค์การนอกภาครัฐยังทำหน้าที่ช่วยเหลือสังคมในสิ่งที่รัฐไม่อาจกระทำตามหน้าที่ได้เต็มที่ (ที่มา: ราชบัณฑิตยสถาน)
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นรางวัลที่พิจารณาจากผลการดำเนินการของ “ผลงานนวัตกรรม” ที่มีความเป็นนวัตกรรม สามารถสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยพิจารณาผลงานที่ขอรับรางวัลตามเงื่อนไข ดังนี้
• ต้องเป็นผลงานที่มีความใหม่ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ (Product) กระบวนการ (Process) การบริการ (Service) หรือรูปแบบธุรกิจ (Business Model)
• ต้องเป็นผลงานที่มีการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาที่ตอบสนองต่อการใช้งานและมีการนำไปใช้งานจริงอย่างแพร่หลาย
• ต้องเป็นผลงานที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และสร้างให้เกิดผลกระทบเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
1. ความเป็นนวัตกรรมของผลงาน
1.1 ระบุที่มาและประเด็นปัญหาที่แก้ไข (Problem Statement)
1.2 อธิบายผลงานนวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหา (Solution) ผลิตภัณฑ์/กระบวนการ/บริการ/รูปแบบธุรกิจที่มีความใหม่ หรือมีการออกแบบนโยบาย หรือประยุกต์ใช้เครื่องมือใหม่ในการนำมาป้องกัน/แก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ อย่างไร
1.3 นวัตกรรม จุดเด่นที่แตกต่างชัดเจนของผลงาน (การเปรียบเทียบกับผลงานที่มีอยู่แล้ว)
2. เป้าหมายและผลกระทบของผลงาน
2.1 ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม
2.2 ผู้ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรม
2.3 ความเสี่ยงหรือผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากนวัตกรรม การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องจากผลงาน และแนวทางแก้ไขปัญหา
3. ความยั่งยืนของผลงาน
3.1 ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และแนวทางเพื่อความยั่งยืน
3.2 ความสามารถในการขยายผลของผลงานและเครือข่ายความร่วมมือ
4. ธรรมาภิบาลขององค์กร
1. เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยถูกต้องตามกฎหมาย และมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยมากกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด
2. ผู้สมัครต้องเลือกประเภทให้ถูกต้องตรงตามประเภทของนิติบุคคล
1. ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในแต่ละประเภท จะได้รับพระบรมรูปพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย
2. ผู้ที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่หนึ่งในแต่ละประเภท จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ
3. ผู้ที่ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สองในแต่ละประเภท จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ
นอกจากนี้ ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับสิทธิประโยชน์ดังนี้
• ได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูเกียรติ
• ได้รับสิทธิในการพัฒนาศักยภาพทางนวัตกรรมจากการเข้ารับการอบรมและศึกษาดูงานนวัตกรรมองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมในต่างประเทศ
• ได้รับโอกาสในการพัฒนาต่อยอดผลงานนวัตกรรมโดยการสนับสนุนด้านเงินทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
• ได้รับการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชิดชูเกียรติผ่านสื่อมวลชน
• ได้รับสิทธิให้ใช้ตราสัญลักษณ์สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ควบคู่กับผลงานที่ได้รับรางวัล เพื่อประชาสัมพันธ์หน่วยงานเป็นระยะเวลา 3 ปี นับจากวันที่ได้รางวัล